ประเพณีโบราณของชาวแม่ออน

 

1. ประเพณีงานศพ

            คนไทลื้อและชาวพื้นเมืองล้านนาของแม่ออนในอดีตนั้น เมื่อมีคนตายญาติจะอาบน้ำศพแล้วแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด เรียบร้อย หลังจากนั้นจึงห่อด้วยเสื่อกก แล้วนำไปวางบนแตะซึ่งอยู่ในล่อง เมื่อปิดฝาล่องแล้ว ก็จะประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ แล้วตั้งศพไว้ประมาณ 2-3 วัน ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ตั้งศพไว้นั้น สมัยก่อนจะมีแต่การทำบุญ แต่ไม่มีการสวดมนต์หรือเทศน์ใดๆ จะมีก็แต่การเล่นหมากรุก เสือกินนก เล่นตาแสงและเล่าค่าว ซึ่งค่าวที่นิยมเล่ากัน ได้แก่เรื่อง หมาขนคำ เจ้าบัวระวงศ์หงส์อำมาตย์ จันต๊ะคาปู๋จี่ และอ้ายร้อยขอด

            เมื่อถึงวันฌาปนกิจศพ จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดสียา แล้วลูกหลานและญาติจะหามศพไปป่าช้าการหามศพนี้จะเป็นความภาคภูมิใจของลูกหลานและญาติมาก เพราะเป็นการทำเพื่อผู้ตายเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อศพเคลื่อนออกจากบ้านแล้วก็จะคว่ำหม้อน้ำต่างๆจนหมด โดยมีความเชื่อกันว่าไม่ให้ผู้ตายห่วงลูกหลานและญาติพี่น้องเมื่อศพถึงป่าช้าก็จะทำพิธีฝัง

            ส่วนประเพณีงานศพของชาวกะเหรี่ยงนั้นจะมีการเก็บศพไว้ในบ้าน 3 คืน ศพจะใช้เสื่อพัน ห่อเอาไว้ ใช้ฝ้ายมัด 3 จุด หัว กลาง ท้าย จากนั้นจะนำเอาเสื้อ ผ้า ถุงย่าม ที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นของใหม่มัดรวมกัน แล้วแขวนเอาไว้ด้านบนของศพ แล้วจะมีการซอ รอบๆ ศพ ทั้งกลางวันและกลางคืน การซอนั้นจะแบ่งกันระหว่างผู้เฒ่า กับ หนุ่มสาว โดยผู้เฒ่าจะซอในเวลากลางวัน หนุ่มสาวจะซอในเวลากลางคืน คล้ายกับการสวดของประเพณีทางพุทธศาสนา การนำศพไปเผานั้นจะใช้ไม้คานหามกันไปเผาที่ป่าช้า เวลาจะไปที่ป่าช้าผู้ที่ไปส่งศพจะต้องไม่น้ำสิ่งของเครื่องใช้ติดตัวไปด้วย เวลาเผาศพเสร็จถ้าใครมีสิ่งของเครื่องใช้เล็กๆน้อยๆให้ทิ้งไว้ในป่าช้า เช่น ยาสูบ กล้องยาสูบ เป็นต้น

2. ประเพณีงานแต่งงาน

            ชาวพื้นเมืองล้านนาของแม่ออนเริ่มต้นโดยหนุ่มสาวที่รักกันและตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจะเริ่มต้นการครองชีวิตคู่ โดยฝ่ายชายจะเตรียมสิ่งของไปสู่ขอ ได้แก่ ขันใส่ผี ซึ่งประกอบด้วย หมาก พลู ข้าวตอก ดอกไม้ และเทียน ซึ่งเมื่อฝ่ายหญิงตกลงรับการสู่ขอนั้นแล้ว ก็จะประกอบพิธีแต่งงานขึ้น โดยทำพิธีผูกข้อมือ ถ้าเจ้าภาพมีฐานะดีในขณะผูกข้อมือก็จะมีการเรียกขวัญเจ้าบ่าวเจ้าสาวด้วย หลังจากนั้นก็จะมีการจูงเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอ เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะมีการเลี้ยงอาหารผู้ที่มาร่วมงาน

            หลังจากแต่งงานได้ 3 วัน เจ้าสาวจะหาบสิ่งของที่ใส่อาหารแห้งต่างๆ ไปเยี่ยมญาติเจ้าบ่าวแล้วมอบสิ่งของที่เตรียมไปให้กับญาติแต่ละบ้านซึ่งญาติฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะผูกข้อมือและนำเงินทองมามอบให้เป็นของรับไหว้ ส่วนการอยู่อาศัยหลังจากนั้นเจ้าบ่าวจะต้องอาศัยอยู่กับบิดามารดาฝ่ายเจ้าสาว เพื่อช่วยทำงานต่างๆอย่างน้อย 2-3 ปี เพื่อทดแทนค่าน้ำนม หลังจากนั้นจึงจะสามารถแยกครอบครัวออกมาได้

            ส่วนประเพณีการแต่งงานของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงนั้น จะมีความแตกต่างจากเผ่าพันธุ์อื่น อยู่ตรงที่ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องไปขอเจ้าบ่าวถึง 3 ครั้ง คือ เช้า กลางวัน เย็น การแต่งงานก็จะมีผู้เฒ่าผู้แก่ไปให้พร หลังแต่งงานไปแล้วจะมีการอยู่กรรม 3 วัน ในการอยู่กรรมนั้น วันแรกคือวันแต่ง วันที่สอง เจ้าบ่าวและญาติจะไปหาเสบียงให้ครอบครัวโดยมีญาติทางฝ่ายหญิงและฝ่ายชายร่วมไปด้วย วันที่สามเจ้าสาวจะเยี่ยมญาติทางฝ่ายชาย โดยแสดงถึงความเป็นแม่เหย้าแม่เรือน จะตักน้ำใส่หม้อใส่ไหให้เต็ม ปัดกวาดเช็ดถูบ้าน ตำข้าวให้ญาติทางฝ่ายชาย ส่วนญาติทางฝ่ายชายถ้ามีสิ่งของเครื่องใช้ก็จะมอบให้ทางฝ่ายหญิง

3. ประเพณีการทำบุญในพระพุทธศาสนา

            ชาวแม่ออนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีประเพณีต่างๆในการทำบุญเหมือนกับชาวล้านนาโดยทั่วไปได้แก่

3.1 การตานก๋วยสลาก

            เป็นการถวายทานที่ผู้ทำบุญจะนำภาชนะ เรียกว่า ก๋วย บรรจุอาหารต่างๆ เช่น ข้าวต้มมัด ขนม อ้อย หมาก พลูและอื่นๆ ไปทำบุญที่วัด โดยในวันตานก๋วยสลากนั้นจะมีผู้คนมาทำบุญกันมาก ดังนั้นจึงมีการทำเส้นสลากควบคู่กับก๋วย พอถึงเวลาตานก๋วยสลากก็จะมีคณะกรรมการนำเอาสลากมากองรวมกัน แล้วแบ่งสลากให้พระและเณรตามสัดส่วน หลังจากนั้นพระและเณรก็ถือสลากที่ได้ไปหาเจ้าของ ก๋วยสลากที่พร้อมจะถวายซึ่งนั่งประจำที่ตามศาลา แล้วพระก็จะให้ศีลให้พร

 

3.2 การตานข้าวใหม่

            จะทำกันเมื่อเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ โดยในการทำบุญจะมีการนำข้าวใหม่จำนวน 1 หาบ พร้อมกรวยดอกไม้ ขนม และอาหารต่างๆ ไปทำบุญที่วัด

3.3 การทำบุญปอยหลวง

            เป็นการทำบุญเพื่อเฉลิมฉลองสิ่งปลูกสร้างของวัดหรือของสาธารณต่างๆในการทำบุญคณะศรัทธาของหมู่บ้านนั้นๆ จะเป็นเจ้าภาพแล้วเชิญวัดอื่นๆ แห่เครื่องไทยทานมาถวายโดยในการแห่จะมีการฟ้อนเล็บ ฟ้อนดาบ ตบมะผาบ ตลอดจนการแสดงอื่นๆ มาแสดงด้วยในงานจะมีมหรสพเป็นการสมโภช

3.4 การทำบุญปอยน้อย

            เป็นการทำบุญที่จัดขึ้นเพื่อฉลองการบวชเณร ในสมัยก่อนเมื่อเด็กชายอายุย่างเข้าปีที่ 10-11 ผู้ปกครองจะนำไปฝากเรียนที่วัดเพื่อศึกษาพระธรรมและหัดอ่าน เขียน ตัวอักขระ ได้แก่ อักษรขอมและล้านนา นอกจากเพื่อจะให้ได้ศึกษาเล่าเรียนมากขึ้นแล้วยังถือว่าเป็นการทดแทนพระคุณบิดามารดาด้วย

            นอกจากการทำบุญดังได้กล่าวแล้ว ชาวแม่ออนยังมีการทำบุญตามเทศกาลต่างๆ ได้แก่ การทำบุญปี๋ใหม่เมือง การทำบุญเดือนยี่เป็ง ตลอดจนการทำบุญตามวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา เป็นต้น ซึ่งการทำบุญนี้ชาวพุทธโดยทั่วไปจะนิยมทำกันอยู่โดยตลอด รวมทั้งการตักบาตรในตอนเช้า การทำบุญเป็นการชำระจิตใจให้สะอาดและได้กุศล

4. การทำนา

            การทำนาในสมัยก่อนมีความแตกต่างจากการทำนาในสมัยปัจจุบันเป็นอย่างมาก เครื่องทุ่นแรงในสมัยนั้นจะมีวัว ควาย ไถ คราด ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เองโดยใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นและมีประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน เช่น การจัดสรรน้ำเข้านา การเอามื้อ นอกจากนั้นยังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนาอีกหลายอย่างซึ่งพอจะอธิบายพอสังเขปดังนี้

4.1 การจัดสรรทรัพยากรน้ำ

            น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำนา ดังนั้นคนในอดีตจึงมีประเพณีถือปฏิบัติในการจัดสรรน้ำเพื่อมิให้เกิดมีข้อพิพาทในการแย่งชิงน้ำ การจัดสรรน้ำเข้านาเริ่มตั้งแต่การขุดลำเหมือง การทำนบฝายกั้นน้ำ ตลอดจนถึงการแบ่งน้ำเข้านา เริ่มแรกจะมีการรวมกลุ่มกันระหว่างคนที่มีพื้นที่การทำนาอยู่ในละแวกเดียวกัน โดยมีการเลือกตั้งคณะกรรมการเรียกว่า คณะกรรมการเหมืองฝาย ประกอบไปด้วยประธาน และ กรรมการ 3-4 คน ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นประธาน เรียกว่า แก่ฝาย กรรมการ เรียกว่า ล่าม มีหน้าที่ตรวจตราดูแลเหมืองฝาย พร้อมกับประสานงานกับผู้ทำนาที่มีพื้นที่นาที่ใช้น้ำในเส้นทางน้ำสายเดียวกัน พอใกล้ถึงฤดูทำนาคณะกรรมการเหมืองฝายจะออกตรวจตราดูว่านำนมฝายกั้นน้ำเข้านา ชำรุดที่ไหนบ้าง

            จากนั้นก็จะมีการประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ส่วนมากแล้วปัญหาที่พบคือทำนบฝายกั้นน้ำพัง ซึ่งคณะกรรมการก็จะประมาณการว่าควรใช้วัสดุที่ใช้ทำทำนบฝายกั้นน้ำเท่าใด ล่ามก็จะประกาศให้สมาชิกนำวัสดุต่างๆในการใช้ทำทำนบฝายกั้นน้ำมา โดยเฉลี่ยกันไปตามจำนวนพื้นที่นาของสมาชิก หมายความถึงว่าใครมีพื้นที่ทำนามากก็ให้นำไปมากใครมีพื้นที่ทำนาน้อยก็ให้นำไปน้อยลดหลั่นกันไปตามสัดส่วน

            การทำทำนบฝายกั้นน้ำจะมีวัสดุอุปกรณ์ดังนี้คือ ก้อนหินขนาดประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร ไม้หลักซึ่งทำจากไม้ไผ่ มีความยาวประมาณ 1 วา ใช้ไม้หลักปักตีให้แข็งแรงแล้วนำหินวางเรียงระหว่างหลักที่ปักไว้ใช้เศษวัสดุอื่น เช่น กิ่งไม้ใบไม้ทับลงไปแล้วใช้ดินและทราบกลบอีกทีให้แน่นหนาพอจะกั้นน้ำให้ไหลเข้าลำเหมืองได้

            ลำเหมืองที่ต่อจากทำนบฝายกั้นน้ำเรียกว่าเหมืองใส้จ๊าง (คลองส่งน้ำ) จากนนั้นก็จะถูกแบ่งไปยังเหมืองใส้ไก่ (คลองแยกน้ำ) แล้วแบ่งเข้าพื้นที่การทำนาต่างๆ ตามต๊าง หรือแต

            การจัดสรรน้ำนี้เป็นวิธีการที่น่าสรรเสริญของภูมิปัญญาชาวบ้านในยุคนั้น คือจะมีการวัดลำเหมืองใส้ไก่ว่ามีความยาวกว้างของเหมืองเท่าไหร่ โดยจะวัดกันเป็นนิ้ว และก็มีความสัมพันธ์กันกับการแบ่งไปยังเหมืองใส้ไก่และต๊างเป็นอย่างดี เช่น สมมติว่า ในพื้นที่การทำนาของชุมชนหนึ่งมีพื้นที่การทำนา 100 ไร่ เหมืองใส้จ๊างมีความกว้าง  200 นิ้ว เขาจะกำหนดโดยเอาพื้นที่นาทั้งหมดมาหารกับจำนวนความกว้างของเหมืองใส้จ๊างเพื่อให้ไหลเข้าสู่เหมืองใส้ไก่ของแต่ละสายรวมถึงเข้าพื้นที่การทำนาด้วยถ้าทำให้เป็นสูตรสำเร็จได้ดังนี้

จำนวนไร่ = 200/100  นิ้ว/ไร่

1 ไร่= 2 นิ้ว

            หมายถึงสมาชิกที่ทำนามีเนื้อที่นา  1 ไร่ ก็มีสิทธิที่จะให้น้ำไหลเข้าพื้นที่นาความกว้าง  2 นิ้ว ถ้ามีพื้นที่นา 10 ไร่ ก็มีสิทธิได้น้ำเข้านา เฉลี่ยความกว้าง  20 นิ้ว จำนวนต๊างจึงมีความกว้างของน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่นาไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความกว้างของเหมืองใส้จ๊างอีกที

 

            แต่อย่างไรก็ตามหากสมาชิกคนไหนมีพื้นที่การทำนาเป็นนาดอนก็จะมีการเลื่อนไหลการจัดสรรน้ำให้มากกว่าสมาชิกคนอื่นได้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงโดยนาที่ดอนอาจได้น้ำมากกว่านาที่ลุ่มก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่นา

            วัฒนธรรมการจัดสรรน้ำนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าของคนในอดีตที่มีข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยกันอย่างเห็นอกเห็นใจกัน วิถีชีวิตของชุมชนเช่นนี้ทำให้สังคมสงบร่มเย็นและสามารถทำการผลิตได้ จะเห็นว่าวิธีการเช่นนี้แตกต่างกับปัจจุบันที่ฝ่ายบ้านเมืองเป็นผู้จัดสรรน้ำ มักจะมีข้อพิพาทอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันไม่มีน้ำอุดมสมบูรณ์เช่นสมัยก่อน มีภาวะน้ำเสียและมีการใช้น้ำเป็นจำนวนมากที่มิได้เป็นไปเพื่อการเกษตรและการผลิต

 

แผนผังการจัดสรรน้ำเข้านา


4.2 ประเพณีการเอามื้อ

            เมื่อถึงฤดูทำนา ชาวนาจะรวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำนา โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเริ่มตั้งแต่การเริ่มหว่านไถ จวบจน การเก็บเกี่ยวผลผลิตเข้ายุ้งฉาง วิธีการเช่นนี้เป็นการแลกเปลี่ยนแรงงานโดยไม่เสียค่าตอบทานเป็นเงินทองแต่อย่างใด

            ประเพณีการเอามื้อนี้ เป็นประเพณีที่เกิดจากความสำนึกของชาวนาในท้องถิ่น โดยไม่มีการบังคับ จะเห็นได้ว่าเป็นการแสดงออกในลักษณะของการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งเป็นการแสดงความสามัคคีของหมู่คณะในชุมชนได้เป็นอย่างดี

4.3 พิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนา

            การทำนาที่ได้ผลนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับน้ำอันหมายถึง การมีฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลตลอดจนการจัดระบบเก็บและส่งน้ำแล้วยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆอีก เช่น โรคระบาดในนาข้าว แมลง และสัตว์ต่างๆสิ่งเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคให้การทำนาไม่ได้ผล ดังนั้นคนในอดีตจึงมีพิธีกรรมหลายอย่างเพื่อช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่กันและกัน เช่น ก่อนสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่กันและกัน เช่น ก่อนการทำนานจะมีพิธีแฮกขวัญข้าวเมื่อดำนาเสร็จจะมีพิธีสู่ขวัญควาย และเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะมีพิธีตานข้าวใหม่เป็นต้น ที่น่าสนใจก็คือในปีใดที่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือมีฝนตกน้อย จะมีการประกอบพิธีเลี้ยงฝีขุนน้ำเพื่อให้มีฝนตกและมีน้ำในการทำนา ในการเลี้ยงผีขุนน้ำนั้นจะกระทำร่วมกันทุกหมู่บ้านทั้งตำบล โดยจะมีการเรี่ยไรเงินจากเจ้าของนา นำไปซื้อวัว 1 ตัว ข้าวตอกดอกไม้ กรวยดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวสุก หมาก เมี่ยง บุหรี่ เป็นของเซ่นไหว้ โดยการเลี้ยงผีขุนน้ำนั้นจะนำไปเลี้ยงที่ต้นน้ำ เช่น น้ำแม่ออนก็จะนำไปเลี้ยงที่ขุนน้ำแม่ออน เป็นต้น

            พิธีกรรมเหล่านี้นอกจากจะเป็นการบำรุงขวัญและสร้างกำลังใจแล้ว ยังเป็นการสร้างความสามัคคีปรองดองของหมู่คณะเป็นการป้องปรามให้คนในสังคมประพฤติปฏิบัติตามทำนองคลองธรรมให้รู้คุณค่าในสัตว์ที่ใช้งาน และคำนึงถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี