การรับประทานอาหาร

 

            การรับประทานอาหารของชาวแม่ออนที่เป็นคนไทลื้อ และคนพื้นเมืองล้านนาสมัยก่อน ก็เหมือนกับชาวล้านนาโดยทั่วไป กล่าวคือ

1. ประเภทของอาหาร

            อาหารที่นิยมรับประทาน ได้แก่ ข้าวนึ่ง โดยมักรับประทานกับน้ำพริก ซึ่งน้ำพริกมีหลายชนิด เช่น น้ำพริกแดง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกมะขาม น้ำพริกอ่อง น้ำพริกน้ำผัก และน้ำพริกน้ำปู เป็นต้น ส่วนอาหารประเภทแกง ก็มีหลายชนิดเช่นกัน เช่น แกงแค แกงตูน แกงผักกาด จอผักกาด และแกงโฮ๊ะ

            นอกจากนี้แล้ว เมื่อถึงเทศกาลสำคัญของท้องถิ่นก็มักจะนิยมทำอาหารกันอีกหลายประเภท เช่น ลาบ แกงฮังเล แกงอ่อม แกงฟักหม่น แกงหยวก ห่อหมก แคบหมู หนังปอง น้ำเมี่ยง ขนมจีนน้ำเงี้ยว และไส้อั่ว เป็นต้น หลังจากรับประทานอาหารอิ่มแล้วก็จะนิยมอมเมี่ยงและสูบบุหรี่ขี้โยกัน

2. ภาชนะในการรับประทานและประกอบอาหาร

            ภาชนะในการรับประทานอาหารและประกอบอาหารส่วนใหญ่จะทำมาจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น ทำมาจากไม้ ได้แก่ โตก แอ๊บข้าว ป๊าก จ๊อน ครก ครกมอง ไหนึ่ง กัวะ หรือ โก๊ะ และไม้ด้าม เป็นต้น ส่วนภาชนะที่ทำมาจากดิน ได้แก่ ถ้วยหม้อนึ่ง หม้อสาว หม้อต่อม หม้อขาง หม้อแกง และน้ำต้น ซึ่งว่ากันว่า หม้อแกงที่ทำมาจากดินนั้นช่วยทำให้อาหารมีรสชาติดี และกลมกล่อมมาก นอกจากนี้น้ำต้นก็เป็นภาชนะใส่น้ำที่เก็บความเย็นได้ดีและทำให้น้ำมีกลิ่นหอม

3. วิธีการรับประทานอาหาร

            การรับประทานอาหารสมาชิกในครอบครัวจะนั่งกับพื้นล้อมโตกเป็นวง เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว จึงเริ่มลงมือรับประทานอาหารโดยผู้อาวุโสจะเป็นผู้เริ่มลงมือรับประทานเป็นคนแรก ถือกันว่าเป็นการที่ผู้อ่อนเยาว์กว่าให้ความเคารพและแสดงความกตัญญูต่อผู้อาวุโสและผู้อาวุโสก็มักมีความกังวลทุกครั้ง หากสมาชิกในครอบครัวไม่มานั่งรับประทานอาหารกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา การแสดงความอาทรห่วงใยเช่นนี้ ทำให้ครอบครัวมีความผูกพันและรักใคร่กันอย่างเหนียวแน่น

            ในการรับประทานข้าวนึ่งจะต้องใช้มือปั้นข้าวให้มีขนาดพอเหมาะแล้วจิ้มอาหารในโตกรับประทาน ในขณะที่แต่ละคนจิ้มอาหารนั้นต้องระวังไม่ให้มือชนกัน เพราะเชื่อกันว่าหากมือชนกันแล้ว ในวันนั้นจะต้องมีคนมาหาถึงบ้าน ส่วนการคดข้าว หรือหยิบข้าวนึ่งในแอ๊บข้าวหรือกล่องข้าวนั้นก็ต้องระวังไม่คดข้าวให้เป็นหลุมตรงกลางเพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ผู้นั้นไม่เจริญก้าวหน้า

            ความเชื่อเช่นนี้แท้จริงเป็นกุศโลบายในการรักษาข้าวที่เหลือ เพราะหากคดข้าวตรงกลางจะทำให้ข้าวที่อยู่ตรงข้างกล่องแห้งเร็วและแข็งไม่น่ารับประทาน การปลูกฝังความเชื่อเช่นนี้เป็นการสอนให้สมาชิกในครอบครัวเป็นคนมีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว และมีความเอื้ออารีต่อกันซึ่งคุณสมบัติเช่นนี้ทำให้ครอบครัวมีความสุขร่มเย็น น่าเสียดายที่คนปัจจุบันมีภารกิจรีบเร่งในแต่ละวัน จึงมีโอกาสน้อยลงในการจะนั่งล้อมวงรับประทานอาหารกับสมาชิกในครอบครัวเช่นสมัยก่อน ปัจจุบันทั้งวัสดุและประเภทอาหารก็เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การปลูกฝังสั่งสอนลูกหลานโดยแฝงความเชื่อต่างๆ ไม่มีโอกาสถ่ายทอดอีกต่อไปอันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวของคนรุ่นใหม่ไม่มีความผาสุกร่มเย็นเช่นสมัยก่อน