ภาษา

 

            ภาษาของคนกลุ่มต่างๆ ในแม่ออนที่ใช้สื่อสารมาตั้งแต่อดีต สามารถจำแนกออกได้หลายภาษา คือ

            1. ภาษาไทลื้อ เป็นภาษาที่เชื่อกันว่าสืบทอดมาจากกลุ่มคนไทยที่อพยพมาจาก สิบสองปันนา หรือ พันนาพูเลา ได้แก่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านออนหลวย หัวฝาย ดอนทราย และบ้านใหม่แม่ป่าขาง ของตำบลออนเหนือ

            2. ภาษาไทยอง  เป็นภาษาที่คล้ายภาษาไทลื้อ แต่สำเนียงและการออกเสียงแตกต่างกัน (บ้างก็ว่าภาษาไทลื้อและไทยองเป็นภาษาเดียวกัน) ได้แก่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านดอนชัยของตำบลแม่ทา

            3. ภาษากะเหรี่ยง เป็นภาษาของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในทุกหมู่บ้านของตำบลทาเหนือ

            4. ภาษาพื้นเมืองล้านนา ซึ่งเป็นภาษาของคนล้านนาทั่วไป ได้แก่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ของทุกตำบล และภาษาพื้นเมืองล้านนานี้ถือว่าเป็นภาษากลางของท้องถิ่นที่ใช้สื่อสารในระหว่างกลุ่มคนที่ใช้ภาษาแตกต่างกันด้วย

            อย่างไรก็ตามยังมีคนกลุ่มที่ออกเสียงและสำเนียงแตกต่างออกไป ซึ่งไม่อาจระบุได้ว่าเป็นภาษาใด ได้แก่ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านออนกลาง บ้านวาก บ้านป่าตัน ของตำบลออนกลาง และบางส่วนในหมู่บ้านดอนทรายของตำบลออนเหนือ แต่ภาษาดังกล่าวก็ใกล้เคียงกับภาษาไทลื้อ หรือไทยอง หรือพื้นเมืองล้านนาซึ่งสามารถสื่อสารเข้าใจกันได้โดยง่าย

            ในเรื่องของภาษานั้นสำหรับภาษาพื้นเมืองล้านนา นอกจากภาษพูดแล้วยังมีภาษาเขียนด้วย ซึ่งคนในล้านนาในอดีต ได้ศึกษาเล่าเรียนกันจนกระทั่งปัจจุบันเมื่อได้เรียนภาษไทยกลางและภาษาต่างประเทศ จึงได้ลดความนิยมลงจนเหลือผู้เขียนและอ่านตัวหนังสือล้านนาได้น้อยคนเต็มที

            ภาษาที่สื่อออกมานั้นเป็นการบอกให้รู้ถึงถิ่นกำเนิด ซึ่งแต่ละภาษาก็มีความไพเราะน่าฟังและมีเอกลักษณ์เฉพาะ การคิดว่าการใช้ภาษาถิ่นเป็นปมด้อย น่าอาย หรือล้าสมัยนั้น เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ชาวแม่ออนควรมีความภาคภูมิใจในภาษาและถิ่นกำเนิดซึ่งแสดงถึงความมีอารยธรรมของตนควรมีการอนุรักษ์สืบไปตราบนานเท่านาน